ข้อมูลสถานศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีจรัลสนิทวงศ์

วิทยาลัยในกลุ่มจรัลสนิทวงศ์

วิทยาลัยเทคโนโลยีจรัลสนิทวงศ์ เดิมชื่อ พณิชยการจรัลสนิทวงศ์ สถาปนาขึ้นโดย อาจารย์สัณห์ พรนิมิตร ผู้วางรากฐานวิทยาลัยในกลุ่มจรัลสนิทวงศ์ บนเนื้อที่ 4 ไร่ 79 ตารางวา ของวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรของกรมอาชีวศึกษา แรกเริ่มรับเฉพาะนักเรียนชายเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนกบัญชี แผนกการขาย และเลขานุการ โดยต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2513 ได้เปิดรับนักเรียนหญิงเข้าเรียนด้วยเป็นสหศึกษา สำหรับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนนั้นนั้นได้ปรับเปลี่ยนตามวิธีจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของวิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2519 วิทยาลัยฯ ได้ขยายการเรียนเป็น 2 รอบการเรียน โดยแบ่งเป็น รอบเช้า เริ่มเรียนเวลา 7.30 น. - 13.30 น. รอบบ่าย เริ่มเรียนเวลา 14.00 น. - 19.40 น. มีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึงรอบละ 600 คน และเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2525 ได้ขยายหลักสูตรเป็นการสอนถึง ระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
วิทยาลัยฯ มีความเชี่ยวชาญจัดการเรียนการสอนใน แผนกบัญชี แผนกการตลาด และแผนกธุรการ ซึ่งนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาทางด้านวิชาการ และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2527 เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญจากการเปิดสอนแผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ระดับ ปวส. ซึ่วนับเป็นสถานศึกษารุ่นแรกเริ่มที่มีการจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ และได้เพิ่มการจัดการเรียนการสอน รอบค่ำ โดยเปิดสอนตั้งแต่เวลา 17.30 น. – 21.00 น. ในทุกระดับการเรียน

เหตุการณ์สำคัญกับความก้าวหน้าของวิทยาลัยฯ
ปีการศึกษา 2539 วิทยาลัยฯ ได้จัดพิธีเปิดใช้อาคาร 7 ชั้น มูลลค่ากว่า 30 ล้านบาท บนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ โดยมียุทธศาสตร์การจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาที่มุ่งสู่ความเป็นสากล เริ่มจากการจัดหาอาจารย์ประจำชาวต่างประเทศเพื่อปูพื้นฐานด้านภาษา สถานศึกษาได้ลงนามในความร่วมมือจัดการศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ กับสถาบันการศึกษาใน Australia, England, และ Canada และได้เปิดสอนหลักสูตร Diploma in Business Administration ของ Bournemouth and Pool College of Further Education รุ่นแรกในการศึกษา 2539
ปีการศึกษา 2540 วิทยาลัยฯ ได้ขยายความร่วมมือกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น โดยทุกปีทั้งสองประเทศจะจัดครูมาทำการสอนวิชาภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น นอกจากนี้ในระดับภายในประเทศ สถานศึกษายังได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับสถาบันราชภัฎสวนดุสิต เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง 2 ปี สาขาบริหารธุรกิจ และวิทยาการจัดการ ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาที่จบจากโรงเรียนในกลุ่มจรัลสนิทวงศ์ สามารถศึกษาต่อถึงระดับปริญญาตรี
ปีการศึกษา 2541 โรงเรียนพณิชยการจรัลสนิทวงศ์ (ชื่อเดิม) ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเอกชนโดยสำนักคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งหมด 3 แผนก คือ แผนกบัญชี แผนกการตลาด แผนก คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ในระดับ ปวช. และปวส. นับเป็นมาตรฐานครั้งแรกที่มีการรับรองมาตรฐานดังกล่าว
ปีการศึกษา 2543 วิทยาลัยฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษา จาก สอศ. และได้รับคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานการศึกษาของเอกชน ที่จัดหรือสนับสนุนการศึกษาโรงเรียนดีเด่นจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ปีการศึกษา 2545 นับเป็นอีกปีการศึกษาที่สำคัญ จากที่วิทยาลัยฯ ได้พัฒนาสถานศึกษาจนสามารถผ่านการประเมินคุณภาพตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาแห่งชาติ (สมศ.) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2545 นับเป็นสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษาในกลุ่มแรกที่ผ่านการประเมินดังกล่าว
ปีการศึกษา 2546 วิทยาลัยฯ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9002 : 1994 และ ISO 9001 : 2000 ทั้งระบบโดยบริษัท Moody International และ UKAS แห่งประเทศอังกฤษเป็นผู้รับรอง นอกจากนี้ยังได้พัฒนา ด้านอาคารสถานที่เพิ่มเติมโดยเปิดใช้ อาคารพรนิมิตร 3 โดยอาคารมีความสูง 7 ชั้น ขนาด 24 ห้องเรียน ติดเครื่องปรับอากาศทุกห้องเพื่อรับรองนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆปี
ปีการศึกษา 2547 วิทยาลัยฯ ทำการเปิดสอนหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขาการท่องเที่ยว และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว สาขางานมัคคุเทศก์ทั่วไป
ปีการศึกษา 2551 – 2555 วิทยาลัยฯ ได้ดำเนินโครงการจัดส่งนักเรียนเข้ารับการคัดเลือกนักเรียนรางวัลพระราชทานและนักเรียนได้รับการคัดเลือก เป็นนักเรียนรางวัลพระราชทานทั้ง 4 ปีการศึกษาเช่นเดียวกัน นอกจากนี้สถานศึกษายังได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ การประกวดมารยาทไทย และการสมาคมระดับประเทศ ในปีการศึกษา 2554 จากสมาคมโรงเรียนอาชีวะศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของสถาบัน และในปีการศึกษาเดียวกันได้เปิดหลักสูตรทวิภาคี ประเภทวิชาพาณิชยกรรม สาขาวิชาพณิชยการ สาขางานธุรกิจค้าปลีก ระดับ ปวช. และประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก ระดับ ปวส. ทั้งนี้วิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการทำสัญญากับบริษัท ยัม เรสเทอรองต์ อินเตอร์ เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทเซ็นทรัล เรสเตอรองต์ กรุ๊ปจำกัด, บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด, โรงแรมเอสดี อเวนิว, โรงแรมไอสนุก เรสซิเด๊นซ์, และ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด
ปีการศึกษา 2555 โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีจรัลสนิทวงศ์ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน
ปีการศึกษา 2558 วิทยาลัยเทคโนโลยีจรัลสนิทวงศ์ ได้เปิดศูนย์ To be Number one และรับเสด็จ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี นับเป็นความภาคภูมิใจของสถานศึกษา และในปีการศึกษาเดียวกันนักศึกษาได้รับการคัดเลือกเป็นเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ อีกทั้งยังได้รับถ้วยรางวัลรองชนะเลิศการประกวดมารยาทไทย และการสมาคมระดับประเทศ จากสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย นับเป็นความสำเร็จที่มีมานานกว่า 46 ปี ของวิทยาลัยในกลุ่มจรัลสนิทวงศ์

Visitors: 325,051